ไอเดียเจ๋ง! ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลี้ยงสาหร่าย “สไปรูลินา” ผลผลิตเพิ่ม 30 เปอร์เซ็นต์ เล็งปั้นเป็นอาชีพใหม่สู่เกษตรกร
?สาหร่ายสไปรูลินา (Spirulina platensis) หรือสาหร่ายเกลียวทอง เป็นสาหร่ายขนาดเล็กมีคุณค่าทางโภชนาการสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยยืนยันว่า ไม่มีพืชชนิดใดมีความหลากหลายในคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับสาหร่ายชนิดนี้ และในการประชุมเรื่อง “อาหารโลก” ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2517
ได้มีการประกาศว่า สาหร่ายสไปรูลินาเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต เป็นแหล่งโปรตีน มีอะมิโนโปรตีน เช่น ไอโซลิวซีน ลูซีน ไลซีน เมไธโอนีน เทรโอนีน ในปริมาณที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ มีวิตามินจำพวกเบตาคาโรทีนสูงกว่าในผักถึง 25 เท่า มีธาตุเหล็กในปริมาณมากกว่าตับ 28 เท่า เป็นแหล่งรวมของวิตามินบี 12 จากคุณสมบัติดังกล่าว
จึงได้รับความนิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร งานวิจัยดังกล่าวมี สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการศึกษาแนวทางดังกล่าว ณ โรงเอทานอลมิตรผล กาฬสินธุ์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด โดยเริ่มต้นการวิจัยมาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561)
??รศ.ดร.สมเกียรติ จตุรงค์ล้ำเลิศ หัวหน้าโครงการให้ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดด้านวิชาการว่า ตามธรรมชาติพืชรวมถึงสาหร่ายล้วนต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับสังเคราะห์แสง ซึ่งในระบบการเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาทั่วไป คาร์บอนไดออกไซด์ที่สาหร่ายตรึงมาจากอากาศไม่เพียงพออยู่แล้ว
จึงต้องมีการเติมอาหารเข้าไปช่วย ต้นทุนค่าอาหารจึงคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนในการเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้/ครอป (ประมาณ 14 วัน) แต่ระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายอัจฉริยะที่เพิ่มเทคโนโลยีดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลที่มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 200 ตัน/วันมาใช้ ด้วยการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ให้สาหร่ายที่เลี้ยงไว้โดยตรงได้ จึงช่วยประหยัดค่าอาหารได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิมถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีผลกระทบต่อคุณค่าเชิงโภชนาการแต่อย่างใด
??ด้านนายทรงศักดิ์ ฤกษ์หริ่ง ผู้จัดการฝ่าย Bio Chemical บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนสถานที่สำหรับฟาร์มต้นแบบ กล่าวถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบการเลี้ยงสาหร่ายอัจฉริยะว่า ทุกอย่างคืบหน้าไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียงเรื่องการจัดการที่เป็นรายละเอียดหน้าฟาร์ม เช่น การเก็บเกี่ยวที่กำลังหาวิธีที่ใช้รวดเร็วขึ้น เพราะมองว่าในอนาคตหากนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรในลักษณะคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง เกษตรกรควรทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ใช้แรงงานน้อยและผู้สูงอายุสามารถทำได้
?กองบรรณาธิการเกษตรกรก้าวหน้าก็หวังว่า โครงการวิจัยนี้จะปิดจ๊อบได้ตามเป้าหมาย ช่วยให้เกิดอาชีพใหม่ที่ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้น แต่สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นยังเป็นประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่อาจประเมินค่าได้จากโครงการวิจัยจากฝีมือคนไทยชิ้นนี้